สวัสดีค่ะ สาระความรู้เกี่ยวกับการแต่งกลอนวันนี้ แอดมินมีเทคนิคที่จะทำให้การแต่งคำประพันธ์นั้นเป็นเรื่องง่ายดายมาฝากทุกๆคน นั่นก็คือคำไวพจน์”นั่นเองงง ถ้าทุกคนรู้จักคำไวพจน์แล้วนำไปใช้กับงานเขียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งคำประพันธ์ กาพย์ กลอน โคลงต่างๆ แม้แต่การแต่งนิยาย หรือเขียนเรียงความส่งครู งานเขียนของเราจะง่ายและไพเราะขึ้นมากๆเลยค่ะ ก่อนอื่นเรามารู้จักกับคำไวพจน์กันก่อน

คำไวพจน์คืออะไร ?

คำไวพจน์ คือ คำพ้องความหมาย หรือคำที่ความหมายเหมือนกัน เช่น พระอาทิตย์ มีคำที่มีความหมายเหมือนกันคือ สุริยัน สุริยา ตะวัน หรือ พระจันทร์ ก็มีคำที่หมายถึงพระจันทร์อีกก็คือ จันทรา ศศิ รัชนีกร เป็นต้น

คำไวพจน์มีประโยชน์ยังไงกับงานเขียน ?

คำไวพจน์มีประโยชน์มากในแง่ของวรรณศิลป์ ถ้าเรารู้จักนำคำไวพจน์มาใช้แทนคำทั่วๆไปและใช้ให้เหมาะกับบริบทเหมาะกับประเภทงานเขียนของเรา คำไวพจน์ก็จะช่วยให้งานเขียนของเราดูมีเสน่ห์มากขึ้น ทำให้ผู้อ่านอิน นึกภาพตามได้ง่ายขึ้น แอดมินจะยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นนะคะ ระหว่างประโยคที่ใช้คำไวพจน์กับไม่ได้ใช้คำไวพจน์ เช่นถ้าเป็นงานเขียนประเภทนิยาย การบรรยายฉาก

“หญิงสาวนั่งเท้าคางอยู่ริมหน้าต่าง สายตาทอดมองออกไปยังคลองหลังบ้าน มองดูคลื่นน้ำที่ถูกลมพัดผ่าน แสงจากพระจันทร์ที่ส่องลงมากระทบผิวน้ำทำให้ดูสวยงามยิ่งนัก”

กับ

“หญิงสาวนั่งเท้าคางอยู่ริมหน้าต่าง สายตาทอดมองออกไปยังคลองหลังบ้าน มองดูเกลียวคลื่นที่ถูกลมพัดผ่าน จันทราที่สาดส่องลงมากระทบผืนน้ำทำให้ดูสวยงามยิ่งนัก”

เห็นความแตกต่างไหมคะ ประโยคแรกมันก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่อันหลังมันจะดูดีขึ้นหน่อย

ถ้าเรานำคำไวพจน์มาใช้ในงานประพันธ์ประเภทกาพย์กลอนโคลงล่ะ มีประโยชน์ยังไง คำประพันธ์พวกนี้จะต่างกับนิยาย เรียงความ ตรงที่มันมีฉันทลักษณ์มาบังคับเรา ว่าต้องมีวรรคละกี่คำ ว่าคำนั้นต้องสัมผัสกับคำนี้นะ จะมีความยุ่งยากมากกว่า แล้วทีนี้มันจะทำให้เราประสบปัญหาการหาคำลงสัมผัสไม่ได้ หรือคำยาวเกินวรรค ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการแต่งกลอนเลยล่ะค่ะ คำไวพจน์จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ แอดมินเรียกมันว่าการเลี่ยงคำ เช่นเราแต่งๆกลอนอยู่ แล้วเราอยากใช้คำว่าสิงโต ซึ่งเป็นเสียงสระโอ แต่มีปัญหาอยู่ว่า มันต้องสัมผัสกับเสียงสระอี เท่ากับว่าเราจะใช้คำว่าสิงโตไม่ได้ใช่ไหมคะ แต่เราอยากพูดถึงสิงโตให้ได้นี่น่า เราก็สามารถเลี่ยงไปใช้คำไวพจน์ของคำว่าสิงโตแทนได้ ในกรณีตัวอย่างนี้เราต้องการเสียงสระอี เราก็สามารถเลี่ยงไปใช้คำว่า ราชสีห์แทนได้ อะไรทำนองนี้ การเลี่ยงคำนอกจากทำให้เราแต่งกลอนต่อไปได้แล้ว กลอนก็ยังไพเราะมากขึ้นด้วย และการใช้คำยากๆพวกนี้ทำให้เราดูเก่งขึ้น ถ้าน้องๆนักเรียนที่เข้ามาอ่านบทความนี้แล้วนำเทคนิคนี้ไปใช้นะคะ น้องจะแต่งกลอนที่ครูสั่งได้ด้วยตัวเองแล้วได้คะแนนดีแน่นอน

ข้อควรระวังในการใช้คำไวพจน์

1. ใช้ให้ถูกบริบทเหมาะกับประเภทงานเขียน เช่น ถ้าเราเขียนนิยายรักวัยรุ่น ก็ไม่ควรจะใช้คำโบราณๆใช่ไหมคะ ไม่งั้นแทนที่จะเพราะขึ้นคงจะดูแปลกๆน่าดู

2. อย่าใช้เยอะพร่ำเพรื่อมากเกินไป เพราะแทนที่จะทำให้เห็นภาพ มีอารมณ์ร่วมได้ อาจจะทำให้ดูเวิ่นเว่อ เข้าถึงยากเกินไป เรื่องนี้วิธีสังเกตว่ามันเยอะไปรึยัง พอเขียนแล้วให้เราลองอ่านดู อ่านซ้ำหลายๆรอบ ถ้าตรงไหนมันแปลกๆเราจะรู้สึกได้เองค่ะ หรือถ้ากลัวจะเข้าข้างตัวเอง ให้คนรอบข้างอ่านก็ได้ค่ะ ถือว่าได้เห็นมุมมองของคนอื่นที่เป็นผู้ชมผลงานเรา

3. เช็คความหมายให้ดีๆ บางทีเราอาจจะเคยเห็นคำยากๆ คำโบราณๆมาก่อน แล้วเราก็บันทึกคำนั้นไว้ในสมองด้วยความเข้าใจที่เราคิดไปเอง บางทีมันอาจจะผิดก็ได้ เพราะฉะนั้นเวลาเราทำงานเขียนแล้วเรานึกถึงคำที่เราคิดว่าเรารู้ ถ้าไม่ชัวร์จริงๆ ก็อย่าลืมค้นgoogleหาความหมายให้ชัดเจนก่อนจะใช้ด้วยนะคะ

แล้วจะรู้ได้ไงว่าคำไวพจน์มีอะไรบ้าง ?

ค้น google อีกนั่นแหละค่ะ เราต้องการคำที่มีความหมายเหมือนคำไหน ก็พิมพ์ไปเลย เช่น คำไวพจน์ของคำว่าดอกไม้ คำไวพจน์ของคำว่าน้ำ ก็จะเจอเพียบเลย มากมายหลายเว็บ วันนี้ก็จบแล้ว สำหรับเทคนิคเกี่ยวกับการนำคำไวพจน์ไปใช้กับงานเขียนประเภทต่างๆ หวังว่าทุกคนที่อ่านจบแล้ว จะนำเทคนิคนี้ไปใช้กันด้วยนะ